ทุนยักษ์ไม่สะท้านต้นทุน ลุยพลิกโฉมเมือง รับต่างชาติ
ทุนยักษ์ไม่สะท้าน วิกฤตสงครามยูเครน ต้นทุนพลังงานวัสดุก่อสร้างสูงเท่าตัว กลับกันพร้อมพลิกโฉมโครงการใหม่ - เร่งเครื่องเปิดบิ๊กโปรเจ็กต์รับต่างชาติเศรษฐกิจพลิกฟื้น
มรสุมสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อต้นทุนพลังงาน ภาคขนส่ง วัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็ก ปรับตัวสูงซ้ำเติมการระบาดโควิดภายในประเทศ เป็นเหตุให้หลายโครงการ ของเอกชนและภาครัฐต้องล่าช้าหรือไม่ต้องชะลอออกไป ไม่เว้นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ แต่ด้วยความที่เป็นแบรนด์แข็งแกร่งระดับโลกมีสายป่านยาว จึงสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสพัฒนาบิ๊กโปรเจ็กต์ให้แล้วเสร็จตามแผนพร้อมทั้งลงทุนโครงการใหม่ต่อเนื่อง เพื่อรองรับ นักลงทุน นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักจากต่างชาติ เข้าใช้พื้นที่ สร้างมูลค่ามหาศาลบนที่ดินประวัติศาสตร์ ซึ่ง มีการประเมินกันว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีความได้เปรียบ เมื่อโครงการแล้วเสร็จเปิดให้บริการ ในช่วงจังหวะโควิดขาลง หรือเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
รายงานข่าวจากกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ กลุ่มทีซีซี กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งของไทย ก่อตั้งโดยเจ้าสัวเจริญ และ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ที่มีบริษัทพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในเครือหลายบริษัท ได้ออกมายอมรับว่า แม้จะมีหลายปัจจัยมากระทบ และถูกกดดันจากระยะเวลาการเช่าที่ดินลีสโฮลด์ (LEASEHOLD) อสังหาริมทรัพย์รูปแบบสิทธิการเช่า ดังนั้นโครงการต้องแล้วเสร็จตามแผนอย่าง อาณาจักร พระรามสี่ โครงการวันแบงค็อก โครงการขนาดใหญ่ บนที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 107 ไร่ มีความคืบหน้าไปมากสามารถเปิดให้บริการในเฟสแรกได้ในปี 2566 โดยเฉพาะในส่วนของโรงแรมและอาคารสำนักงาน เช่นเดียวกับ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ พื้นที่ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า จะเปิดให้บริการได้ในเดือนกันยายน 2565 นี้ หลังจากเฟสแรกของโครงการเดอะปาร์คส่วนของศูนย์การค้าได้เปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
ส่วนโครงการใหม่พัฒนารูปแบบผสมหรือมิกซ์ยูส แน่นอนว่าลงทุนตามแผน 3 โครงการอย่างโครงการปลายปี 2565 ได้แก่ ล้ง 1991 ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านคลองสาน จุดหมายปลายทางของคนรักษ์สุขภาพระดับโลก โครงการเวิ้งนาครเขษม ย่านเจริญกรุง และโครงการบนที่ดินเอเชียทีค พัฒนาโรงแรม 100 ชั้นหรือ 450 เมตร สูงที่สุดในไทย ทำเลศักยภาพ ทั้งย่านเจริญกรุง ฝั่งพระนคร และเจริญนคร ฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นโครงการระดับยักษ์ชนยักษ์กับไอคอนสยาม เชื่อว่าจะช่วยกัน พัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาให้มีสีสัน อวดสายตาชาวโลกได้อย่างดียิ่งในอนาคต
อีกโครงการที่น่าจับตา โปรเจ็กต์ยักษ์โรงแรม นารายณ์โฉมใหม่ มูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ที่บริษัท นารายณ์ โฮเต็ล จำกัด มีแผนทุบอาคารเก่า ในปีนี้ และพลิกโฉมใหม่ ให้มีความทันสมัย แต่คงสถาปัตยกรรมโบราณแบบไทยที่จะมาสร้างแทนที่โรงแรมนารายณ์เดิม ได้แก่ โรงแรม 6 ดาว เชนใหม่ ที่ไม่เคยมีในไทยมาก่อน ซึ่งเท่าที่วัดจากระยะห่างจากถนน สามารถสร้างได้สูง 60-70 ชั้น ขณะชื่อจะยังคงใช้ชื่อเดิมคือโรงแรมนารายณ์อีกทั้งยังพัฒนาพื้นที่สวนเปิดโล่งเพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาใช้ได้ด้วย เพิ่มมูลค่าให้กับถนนสีลม เช่นเดียวกับบิ๊กโปรเจ็กต์ที่อยู่ระหว่างเร่งมือ ทั้งโครงการดุสิตเซ็น ทรัลปาร์คโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสม บนที่ดินขนาดใหญ่ จำนวน 23 ไร่เศษหัวมุม ถนนพระราม 4 ตัดถนนสีลม ตรงข้ามสวนลุมพินี และโครงการสีลมเอจของบริษัทในกลุ่มเจ้าสัวเจริญมีแผนเปิดให้บริการ เดือนกันยายน นี้ ที่เชื่อมโยงไปยังถนนพระรามสี่ได้อีกด้วย
ที่สร้างความฮือฮามาก่อนหน้านี้เมื่อสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ประกาศให้บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาจำกัด (มหาชน) หรือ CPN คว้าที่ดินที่ดินแปลง A สยามสแคว์ หรือโรงภาพยนตร์ สกาล่าเดิม เนื้อที่ 7 ไร่มีแผนพัฒนาเป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมและย่านของถนนช็อปปิ้งโลก
นอกจากนี้ CPN ยังร่วมทุนพัฒนากับทุนข้ามชาติ บริษัท เซ็นทรัล แอนด์ ฮ่องกงแลนด์ จำกัด (CHKL) พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานสูง 36 ชั้น บนที่ดินสถานทูตอังกฤษเดิมเนื้อที่ 23 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลัง เช็นทรัล แอมบาสซี ถนนเพลินจิตตัดถนนวิทยุ แนวรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท
ขณะที่ดินโรงเรียนวาชิราวุธ วิทยาลัย ทำเลศูนย์กลางธุรกิจ บนถนนราชดำริ เขตปทุมวัน เตรียมทุบตึกเก่าที่หมดสัญญา พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสให้เกิดความคุ้มค่ากับแปลงที่ดินที่หายากยิ่ง ในเวลานี้ โดยเฉพาะที่จะมีแผนพัฒนา จะเป็น ซอยมหาดเล็กหลวงหนึ่ง ปิดฉาก อาคารเพนนินซูล่าพลาซ่าพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ ระดับไฮเอ็นด์และโรงแรม และซอยมหาดเล็กหลวงสาม ทุบทิ้งตึกเก่าเนรมิต มิกซ์ยูส กว่าแสนตารางเมตร ขุมทอง นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันยังมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจมองหา ที่ดินในเมือง เพื่อพัฒนารองรับกำลังซื้อกลับมา
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบัน สถานการณ์โควิดจะอยู่ในช่วงขาลง รัฐบาลเปิดประเทศเต็มรูปแบบ แต่ไม่มีใครการันตีได้ว่า โควิดจะหมดไปเมื่อใดและสายพันธุ์ใหม่จะไม่ปะทุขึ้น กระทั่งทำให้ระบบเศรษฐกิจปั่นป่วนซ้ำอีกระลอก
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ