ตลท.ชี้ดอกเบี้ยขาขึ้น ความท้าทายหุ้นไทยปี 65
จับตาการเมืองระหว่างประเทศ
ตลท.จับตาดอกเบี้ยขาขึ้น ความท้าทายตลาดทุนปี 65 เตือนนักลงทุนระวัง อย่ามองแค่ GDP และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ชี้ปัจจัยเสี่ยงมีเพิ่มต่อเนื่อง
ในงานสัมมนา หุ้นไทยปีขาล “เสือคะนอง หรือ เสือลำบาก” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดยมี นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ”ทิศทางการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกและหุ้นไทยปี 2565”
นายภากรเปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% ซึ่งนอกจากเม็ดเงินจากภาครัฐที่พยุงเศรษฐกิจมาโดยตลอดแล้ว ยังมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออก ที่เป็นตัวทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่อไปได้ รวมถึงภาคการบริโภคภายในประเทศ ที่แม้จะยังไม่กลับมาเต็มที่ แต่เชื่อว่า หากสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดีขึ้น จะทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถฟื้นตัวกลับมาได้
ส่วนทิศทางลงทุนในตลาดทุนปี 2565 นอกจากนักลงทุนจะพิจารณาถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ คือ ความไม่แน่นอนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผลกระทบจากการเมืองระหว่างประเทศที่กระทบต่อราคาน้ำมันหรือสินค้าโภคภัณฑ์ให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและบจ.ได้
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องสภาพคล่องในตลาดโลกที่จะลดลง จากการที่ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยเริ่มเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งแล้วและจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน
”ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยต่ำมาโดยตลอด
แต่สภาพคล่องสูง ทำให้ดัชนีของตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากเงินที่เรียกว่า อีซี่มันนี่ เข้ามาลงทุนเยอะ เมื่อดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้น ทำให้การเลือกลงทุนในตราสารมีมากขึ้น ทำให้กระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ปีนี้ยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับการลงทุน” นายภากรกล่าว
จุดแข็งของตลาดทุนไทยคือ 1.ความสามารถในการทำกำไรของบจ. ซึ่งนักวิเคราะห์หลายที่มีมุมมองว่าในปี 2565 บจ.ไทยจะกลับมาทำกำไรสุทธิได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด และยังเห็นได้ชัดว่า ผลตอบแทนของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในดัชนีความยั่งยืน จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 12.45% ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าบริษัทที่ทำธุรกิจปกติที่อยู่ใน SET100 จะอยู่ที่ 9.5%
2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยรอบนี้ จะเป็นการฟื้นตัวแบบ K-Shaped หรือ ไม่เท่าเทียมกันในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนของ K ที่อยู่ปลายชี้ด้านบน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี อุตสาห กรรมการผลิต ภาคการเงินและประกัน และภาคการเกษตรและอาหาร ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เพราะส่งออกได้มาก ส่งผลให้ผลประกอบการฟื้นตัวได้รวดเร็วตามไปด้วย
ขณะที่ส่วนของ K ที่อยู่ตรงปลายชี้ด้านล่างคือ กลุ่มที่พึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาฯและก่อสร้าง กลุ่มให้บริการในประเทศ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือธุรกิจด้านสุขภาพต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ทำให้การฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ แต่เชื่อว่า หากควบคุมโควิดได้ เศรษฐกิจของธุรกิจดังกล่าวสามารถฟื้นตัวได้ และทำให้จะทำดัชนีและราคาของธุรกิจดังกล่าวฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปีนี้
และ 3. ตลาดหลักทรัพย์สนับสนุนการระดมทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี หรือ สตาร์ทอัพ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ ผ่านระบบ LiVEExchange’s characteristic เชื่อว่า จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้
3 หุ้นเด็ด ตามเทรนด์ลงทุนปี 2022
ในงานสัมนา หุ้นไทยปีขาล “เสือคะนอง หรือเสือลำบาท” จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ได้รับเกียรติจากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในกระแสการลงทุนโลก ไม่ว่าจะเป็นเทคคอมพานี พลังงานสะอาด หรือ การเคลื่อนย้ายกระแสเงินลงทุนทั่วโลก
นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจสบาย เทคโนโลยี เริ่มต้นธุรกิจจากบริการชำระเงินและการเงิน แต่มุมมองต่างจากสตาร์ทอัพรายอื่น ที่อาจเริ่มต้นจากการสร้างแพลตฟอร์มก่อน แต่สบายฯ เริ่มต้นจากการสร้างออฟไลน์ สร้างฐานลูกค้าขึ้นมาเพื่อให้รู้ข้อมูล พฤติกรรมลูกค้า ก่อนสร้างเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมา
ปีนี้กลุ่มสบาย เทคโนโลยี มุ่งไปสู่ SABUYVERSE หรือจักรวาลในแบบของสบาย ภายใต้แนวคิด “ตื่นยันหลับ ชีวิตติดสบาย” และจะกระจายทรัพยากรที่มีอยู่ไปช่วยพาร์ทเนอร์และลูกค้า ให้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจต่ำ โดยปีที่แล้ววางเป้าหมายเข้าถึงคนไทย 50 ล้านคน ปีนี้ตั้งเป้าจะเชื่อมต่อจุดให้บริการ 500,000 จุดทั่วประเทศ
”เป้าหมายธุรกิจปีที่ผ่านมาเติบโต 100% ปีนี้ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนหรือร่วมเป็นพันธมิตร จะเริ่มออกดอกออกผล เชื่อว่าภายในปีหน้าจะเห็นการเติบโตธุรกิจเป็น 100% และปีนี้ ทุกคนจะเข้าใจภาพธุรกิจที่เรากำลังขยายไปและจะรู้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว” นายชูเกียรติ กล่าว
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัดกล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยถือว่าน่าสนใจมาก โดยเห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่ไหลเข้าไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมากว่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นการไหลเข้าตลาดหุ้น 6 หมื่นล้านบาทและตลาดตราสารหนี้อีก 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมเม็ดเงินลงทุนโดยตรง(FDI) ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่านำสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน
ฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าในภูมิภาคเอเชียมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริงของประเทศต่างๆในเอเชียรวมถึงไทยสูงกว่าสหรัฐ 5-10% ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวเติบโตขึ้น และยังมีเรื่องการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนด้วยหรือ Global AUM ซึ่งเป็นเงินลงทุนในหุ้นทั่วโลกราว 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาจะลงทุนในตลาดเกิดใหม่ประมาณ 9% แต่ปัจจุบันลงทุนเพียง 6.3% ทำให้มีเม็ดเงินส่วนต่างอยู่ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยน่าจะได้ประโยชน์ประมาณ 30-40%
นายภคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า หุ้นของ บริษัทฯ ถือว่า มีความน่าสนใจสำหรับการลงทุน จากมูลค่า P/E อยู่ที่ระดับ 7.99 ขณะที่ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 16.08 ส่วนค่า P/BV อยู่ที่ 1.16 ขณะที่ทั้งอุตสาหกกรมอยู่ที่ 1.164 และDvd Yield อยู่ที่ 6.52 โดยที่ทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.17% ทำให้หุ้นของ TPIPP เป็นของดีราคาถูกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน
สำหรับแผนงานในระยะต่อไป บริษัทฯตั้งเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้า 474 เมกะวัตต์ ในปี 2023-24 และ 582 เมกะวัตต์ในปี 2027-28 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 440 เมกกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 474 เมกะวัตต์นั้น มาจากการชนะการประมูลโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดสงขลา เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขั้นตอนล่าสุดอยู่ระหว่างการรวบรวมบทสรุปเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
ขณะที่กำลังการผลิตที่จะเพิ่มเป็น 582 เมกะวัตต์ จะมาจากการประมูลโรงไฟฟ้าขยะที่กำลังจะเปิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื้อเพลิงในรูปแบบอื่นเข้ามาเสริม
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ