จับตาอสังหาฯไทยปี 2567 หนี้ครัวเรือนอ่วมยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง

30 Nov 2023 257 0

 

          

          กำลังซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2567 ยังมีความเปราะบางสูง เพราะมีกับดักในหลายปัจจัย และความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย ระดับราคา 2-4 ล้านบาท ที่นายวิทย์ กุลธนวิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท แคปปิตอล วัน เรียลเอสเตท จำกัด และ เคลเลอร์ วิลเลี่ยม ไทยแลนด์ บริษัทตัวแทนด้านอสังหาริมทรัพย์ไทย สะท้อนว่าตลาดกลุ่มนี้ เป็นฐานใหญ่ที่สุดของผู้ซื้ออสังหา ริมทรัพย์ ยังมีปัญหาในเรื่องการปฏิเสธสินเชื่อกู้ซื้อบ้านจากธนาคารค่อนข้างสูง (รีเจกต์เรต) เพราะติดภาระหนี้อื่นๆ โดยจะเห็นข่าวอยู่มากเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งนโยบายเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มีความเข้มงวดมากเกินไป จากข้อกังวลจากธนาคารแห่งประเทศไทย และใช้มาตรการอัตราส่วนที่ธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้ เมื่อเทียบกับราคาบ้านที่ซื้อ (Loan to Value Ratio หรือ LTV) เป็นการแทรกแซงตลาดการให้สินเชื่อระหว่างธนาคารและผู้กู้ โดยพยายามให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์รวมในประเทศหรือ GDP ลดลง

          หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย เช่น เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ไต้หวัน, และออสเตรเลีย จะมีหนี้ภาคครัวเรือนต่อGDPสูงกว่าประเทศไทย ทั้งๆ ที่มีอัตรา GDP ต่อประชากรสูงกว่าไทย 5-6 เท่า และวิธีการประเมินการปล่อยสินเชื่อควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยน หลักการในการคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระไม่ได้ มีการปรับไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น หนี้บัตรเครดิต ที่ธนาคารพาณิชย์นำหนี้ดังกล่าวมาประเมินผู้ขอสินเชื่อ แต่ในบางประเทศ ธนาคารไม่รวมหนี้บัตรเครดิตมาเป็นปัจจัยหลักในการคำนวณขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัย

          โดยผลการอนุมัติจะใช้ระบบ Credit score ที่เป็นมาตรฐานการคำนวณจากหน่วยงานกลางที่ไม่ใช่ Credit bureau (เครดิตบูโร) หรือ บางครั้งพิจารณาจากความสามารถในการชำระค่าเช่าของผู้กู้มาเป็นหลักการประกอบการพิจารณา การใช้วิธีการประเมินขึ้นอยู่กับหลักการของแต่ละธนาคาร ทำให้การกู้ซื้อบ้านมีอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูงเพราะไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ให้กับผู้ที่ต้องการยื่นสินเชื่อบ้าน ที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ในการเตรียมความพร้อมโดยปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ ณ ปัจจุบัน มีผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่ชัดเจน และไม่เปลี่ยนเพื่อให้ทันกับสถานะการณ์ทั่วโลก

          นับตั้งแต่หลังช่วงโควิดมา สหรัฐฯได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงจาก 2.25% ในปี 2562 ก่อนโควิดเป็น 5.5% ณ ปัจจุบัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วในปี2562 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะอยู่ที่ 1.5%-1.75% แต่ปัจจุบัน จะอยู่ที่ 2.5% เท่านั้น ทำให้เงินทุนไหลออกไปลงทุนในประเทศอื่นค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบให้เงินหมุนเวียน หรือสภาพปัจจุบันที่การลงทุนในตลาดทุน ได้ไหลออกจากประเทศไทยค่อนข้างสูง โดยมีดัชนี Set index ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี และมีผลกระทบต่อความมั่นใจผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัดเจนในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา

          ขณะกำลังซื้อของคนไทยได้ถดถอยลงไปมากตามสภาวะการลงทุน ทั้งนี้หลายฝ่ายอาจจะมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการทางเงินในการกู้ยืมและส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย แต่อยากให้มองอีกมิติว่า จะทำอย่างไรให้สภาพการลงทุนหรือความมั่นใจผู้บริโภค มีการปรับตัวดีขึ้นจากสภาพ ณ ปัจจุบัน โดยพิจารณาจากสหรัฐฯเป็นตัวอย่าง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงแต่สภาวะเศรษฐกิจยังคงดีอยู่ และไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ควรดูจากอัตราเงินเฟ้ออย่างเดียว เนื่องจากประเทศไทยขนาดเศรษฐกิจยังเล็กอยู่ ควรพิจารณาจากสภาพแวดล้อมภายนอกประเทศประกอบด้วย

 

Reference: