คอลัมน์ มองอย่างเซียน: ส่องมาตรการกระตุ้นอสังหาปี 67

07 May 2024 237 0

 

       

      หลังจากที่มีมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือ ร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนอง อสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01

      นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA) มีความเห็นต่อมาตรการดังกล่าวว่า แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้น แต่ส่วนตัวเห็นด้วยที่รัฐบาลได้ออกมาตรการนี้มา เพราะนอกจากจะสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชนแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ยังกระตุ้นและส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตวัสดุก่อสร้าง การจ้างงาน เป็นต้น ดังนั้นตลาดที่อยู่อาศัยจึงถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญซึ่งมีสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP ประเทศ กล่าวคือ ถ้าอสังหาริมทรัพย์ หรือตลาดที่อยู่อาศัยสามารถขับเคลื่อนไปได้ จะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของเงินได้อย่างเต็มระบบและจำนวนมาก นั่นเท่ากับว่าในทุกหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จะขยายตัวเกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบของประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาล

        การขยายเพดานราคาที่อยู่อาศัยเป็น 7 ล้านบาทต่อยูนิตนั้น เชื่อว่า ครอบคลุมกลุ่มของกำลังซื้อได้มากกว่าเพดานเดิม 3 ล้านบาท ที่เคยทำมาในอดีต ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคา 3 ล้านบาท จะมีอยู่มากที่สุดในตลาดที่อยู่อาศัยแต่ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคนที่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิตนั้น คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วจะติดปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนและกู้แบงก์ไม่ผ่าน ซึ่งนี่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นการเพิ่มเพดานราคาที่อยู่อาศัยเป็น 7 ล้านบาทต่อยูนิต ก็น่าจะสร้างแรงขับเคลื่อนในวงกว้างได้มากขึ้น เพราะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต ขึ้นไปนั้น มีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อธนาคารน้อยกว่า

       โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีความพร้อมในเรื่องการขอสินเชื่อธนาคาร การอนุมัติมาตรการลดค่าจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนองโดยเพิ่มเพดานราคาเป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ดีต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มนี้ มาตรการนี้เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของคนซื้อที่อยู่อาศัย เพราะค่าใช้จ่ายวันโอนกรรมสิทธิ์บ้านหรือคอนโดมิเนียมจะลดลงมาก นอกจากนี้การที่รัฐบาลมีมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านเอง ยิ่งส่งผลดีในวงกว้างมากขึ้นด้วยเพราะจะช่วยกระตุ้นไปถึงภาคธุรกิจการก่อสร้าง รวมไปถึงวัสดุก่อสร้างที่จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ

         นอกจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการโอนจากร้อยละ 2 เหลือ ร้อยละ 0.01 และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1 เหลือ ร้อยละ 0.01 ที่จะกระตุ้นกำลังซื้อแล้ว มาตรการทางด้านดอกเบี้ยพิเศษผ่านกลไกของแบงก์รัฐทั้ง 2 แบงก์คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. และธนาคารออมสิน นั้น จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้และมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น  

         โดย ธอส. ได้ออกโครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนทั้งผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

 

Reference: