คอลัมน์ ดาต้าเบส: ยุคโควิดบ้าน-คอนโดฯมือสองบูม Q2/64 เร่ขายบนเว็บไซต์ทะลุ 8 แสนล้าน
สถานการณ์โควิดชุบชีวิตตลาดที่อยู่อาศัยมือสองล่าสุด ”ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ REIC รวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศ จากการประกาศขายผ่านเว็บไซต์ตลาดนัด บ้านมือสอง สรุปสาระสำคัญดังนี้
แห่ขายเดือนละแสนหน่วย
ผลสำรวจ ณ ไตรมาส 2/64 มีการประกาศขายเฉลี่ยเดือนละ 114,668 หน่วย หดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 ซึ่งเฉลี่ยเดือนละ 114,794 หน่วย ขณะที่ด้านมูลค่าเพิ่มขึ้น จากไตรมาส 1/64 เฉลี่ยเดือนละ 749,651 ล้านบาท เพิ่มเป็นเฉลี่ยเดือนละ 818,939 ล้านบาทในไตรมาส 2/64
ประเภทที่ประกาศขายมากสุด ได้แก่ 1.บ้านเดี่ยว เฉลี่ยต่อเดือน 42,187 หน่วย สัดส่วน 36.8% 2.ห้องชุด เฉลี่ย 38,523 หน่วย สัดส่วน 33.6% 3.ทาวน์เฮาส์ เฉลี่ย 28,329 หน่วย สัดส่วน 24.7% 4.อาคารพาณิชย์ เฉลี่ย 3,813 หน่วย สัดส่วน 3.3% และ 5.บ้านแฝด เฉลี่ย 1,816 หน่วย สัดส่วน 1.6%
สำหรับด้านมูลค่าสถิติท็อป 5 ได้แก่ 1.บ้านเดี่ยว มีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือน 415,815 ล้านบาท สัดส่วน 50.8% 2.ห้องชุด เฉลี่ย 283,782 ล้านบาท สัดส่วน 34.6% 3.ทาวน์เฮาส์ เฉลี่ย 92,063 ล้านบาท สัดส่วน 11.2% 4.อาคารพาณิชย์ เฉลี่ย 21,144 ล้านบาท สัดส่วน 2.6% และ 5.บ้านแฝด เฉลี่ย 6,135 ล้านบาท สัดส่วน 0.7%
กทม.เทกระจาดมากสุด
ในด้านทำเลที่ตั้งเรียงลำดับท็อป 10 (ดูกราฟิกประกอบ) พบว่า อันดับ 1 กระจุกอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 48,331 หน่วย สัดส่วนเฉลี่ยต่อเดือน 42.1%
จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และสุราษฎร์ธานี แต่ละจังหวัดมีสัดส่วนไม่ถึง 10%
ในด้านมูลค่าแยกตามทำเลที่ตั้ง พบว่าพื้นที่กรุงเทพฯมีมูลค่าประกาศขายเฉลี่ยต่อเดือน 482,117 ล้านบาท สัดส่วน 58.9% จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ประจวบฯ ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี และเพชรบุรี มีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนแต่ละจังหวัดไม่ถึง 8%
โดยกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท มีการประกาศขายมากสุดเฉลี่ยต่อเดือน 21,099 หน่วย สัดส่วน 18.4% รองลงมากลุ่มราคา 2-3 ล้านบาท และกลุ่มราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไปตามลำดับ
”บ้านมือสอง 1.1 แสนหน่วย มูลค่าเกิน 8 แสนล้านบาท หากนับรวมกับหน่วยเหลือขายของบ้านใหม่อีก 2.9 แสนหน่วย มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาทแล้ว จะเห็นได้ว่าในขณะนี้มีบ้าน รอขายรวมกัน 4 แสนหน่วย มูลค่ารวมเกิน 2 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าปริมาณซัพพลายในตลาดที่ต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้น”
โดยผู้ประกอบการนอกจากจะแข่งขันกันเองแล้ว ยังต้องรับศึกสองด้านแข่งขันกับบ้านมือสองอีกด้วย
ดังนั้น การลงทุนเปิดโครงการใหม่ในปี 2565 ต้องสำรวจซัพพลายของทั้ง 2 ตลาดควบคู่กันเพื่อให้เกิดภาวะสมดุลกับดีมานด์ที่แท้จริงในตลาด
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ