คลัง-ธปท. หั่น GDP ระลอกใหม่เร่งรับมือ ท่องเที่ยว-บริโภค สะดุด
ในที่สุดก็ถึงคิวของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ที่ได้ประกาศปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ของไทยลง เช่นเดียวกับสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจภาคเอกชนที่พาเหรดปรับลดประมาณการกันไปก่อนหน้านี้
โดย “ดร.กุลยา ตันติเตมิท” ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 1.8-2.8%) ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 2.8% ต่อปี ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทั้งนี้ สศค.ได้ปรับลด ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลดลงเหลือ 2 ล้านคน จากเดิมคาด 5 ล้านคน หรือลดลง 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยข้อกำกัดเรื่องการเปิดรับ นักท่องเที่ยวที่เปิดเฉพาะบางพื้นที่นำร่อง ทำให้คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเข้ามาแค่ 1.7 แสนล้านบาท ลดลง 49% จากเดิมคาด 2.6 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีการเร่งการเบิกจ่ายในปี 2564 เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท เป็นราว 6.02 แสนล้านบาท จากตัวเลขประมาณการเดิมที่ราว 5.02 แสนล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยพยุงได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือมาตรการ และจะเร่งสรุปภายในเดือน พ.ค.นี้
“การดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ, โครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้นได้”
“ดร.กุลยา” กล่าวด้วยว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) การระบาดของโควิดระลอกใหม่ในหลายประเทศ 2) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ และ 4) ความผันผวนของระบบการเงินโลก และเงินทุน เคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
ด้าน “ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการ อาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจเดือน มี.ค. และไตรมาส 1 ปี 2564 ยังไม่เห็นผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เนื่องจากเพิ่งเริ่มการระบาดในช่วงปลายเดือน มี.ค. อย่างไรก็ดี ธปท.ยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ตามการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดย ธปท.คาดว่าจะปรับประมาณการจีดีพีในระยะต่อไป จากเดิมคาดการณ์จีดีพีโตที่ 3%
ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะนำผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 เข้าไปประเมินด้วย “ก่อนจะมีการระบาดระลอก 3 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทยอยปรับดีขึ้น ทั้งในดัชนีภาคการบริโภคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนเอกชน แต่หลังจากมีระลอก 3 ดัชนีที่จะเห็นการสะดุดในไตรมาส 2 จะเป็นเรื่องการบริโภคตามกิจกรรมที่ลดลง และการท่องเที่ยว แต่เชื่อว่าภาครัฐจะมีมาตรการเข้ามากระตุ้นการบริโภค ทำให้เห็นตัวเลขบริโภคกลับมาได้ในปลายปี แต่ที่เป็นแรงส่งดี ๆ ต่อเนื่องและเป็นพระเอกของปีนี้จะเป็นการส่งออก”
นอกจากนี้ ต้องติดตามผลกระทบตลาดแรงงานที่ในเดือน มี.ค. 2564 ยังคงเปราะบาง เนื่องจากตัวเลข ผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่อยู่ที่ 92,279 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 2564 อยู่ที่ 90,904 คน
“ชญาวดี” บอกด้วยว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวนมาตรการช่วยเหลือ ในส่วนของลูกหนี้รายย่อย เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยกำลังประเมินภาพผลกระทบและประสานงานกับภาครัฐอยู่ คาดว่าจะออกมาได้เร็ว ๆ นี้
ส่วนมาตรการจะออกมาอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ