คลังหนุนลงทุนอีอีซีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนศก.ตัวใหม่

19 Oct 2021 431 0

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายเศรษฐกิจจาก Pandemic สู่ Endemic” เนื่องใน โอกาสครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปีที่ 60 ว่า ปัจจุบันประเทศของเราอยู่ในช่วงของ การเปลี่ยนผ่านจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาด ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้อยู่รอดปลอดภัย ปัจจุบันหลายประเทศจะมองในเรื่องที่ว่าจะอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาด ได้อย่างไร ขณะที่เศรษฐกิจต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งประเทศไทยเองจากสัดส่วน รายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 12% หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท มาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจากการแพร่ระบาดทั่วโลกทำให้เดินทางท่องเที่ยวไม่ได้

          เพราะฉะนั้นการที่รายได้ของประเทศหายไปกระทบต่อชีวิตของคนภายในประเทศทั้งหมด โดยเฉพาะประชาชนที่ทำงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยวตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน สิ่งสำคัญและเป็นปัจจัยหลักนี้ คือ บทบาทของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ ทุกประเทศทุกรัฐบาลต้องใช้จ่ายเงิน เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบทันที

          ดังนั้น สิ่งแรกที่ทุกประเทศทั่วโลกทำคือ การจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชน ในส่วนของประเทศไทย ได้กู้เงินเพื่อ แก้ปัญหาโควิด-19 รวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถกู้เงินเพิ่ม หากมีเหตุการณ์ยืดเยื้อต้องใช้เงิน

          ในภาวะวิกฤติสิ่งสำคัญ คือ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องประสานกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ใน 3 ระดับ คือ

          1.ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจระดับมหภาค ซึ่งเป็นบทบาทโดยตรงของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

          2.ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจระดับหน่วยธุรกิจ คือภาคเอกชน โดยต้องดูว่าจะทำ อย่างไรให้เอกชนที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังอยู่รอดปลอดภัย มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรก็ตาม 

          3.ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจระดับประชาชน ที่เมื่อ ได้รับผลกระทบ ประชาชนยังมีรายได้ เพียงพอประทังชีวิตในระดับหนึ่ง นอกเหนือ จากการช่วยเหลือของภาครัฐ

          สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ วิธีการหารายได้ของรัฐ ซึ่งจะมาจากการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ ที่ต้องคิดเรื่องนี้ว่าจะมีวิธีการอย่างไรให้ระดับรายได้ ของรัฐมั่นคง ขณะที่ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เข้าสู่ยุคปกติที่ไม่ปกติ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องมีการดึงเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้มากขึ้น นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญ กับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นการสนับสนุนธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการปรับโครงสร้างประชากร เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย

          ดังนั้นการลงทุนด้านการแพทย์ สาธารณสุข สุขภาพอนามัยเพื่อความยืนยาวของชีวิต การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่อง สำคัญ รวมถึงการสร้างการเติบโตผ่านเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ๆ ได้แก่ การสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยกันในเรื่องนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกระดับมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะมั่นคงเพียงพอในการรับมือ กับวิกฤตการณ์ต่างๆ ในอนาคต

Reference: