ครม.คงอัตราภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างอีก2ปี

08 Dec 2021 498 0

          ครม.ไฟเขียว คงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อไปอีก 2 ปี ตามบทเฉพาะกาล สำหรับปีภาษี 65-66 ชี้ช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจ สังคม พร้อมทบทวนใหม่อีกครั้ง ในปี 67 ให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ

          นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2564 ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการคงอัตรา ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดิม ตามบทเฉพาะกาล ม.94 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

          ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดให้ 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ปีภาษี 2563-2564 ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษีที่จะใช้อยู่ในปัจจุบันจะครบกำหนดระยะเวลาในปีภาษี 2564 ในวันที่ 31 ธ.ค.2564 ครม.จึงอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... เพื่อเป็น การกำหนดอัตราภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป โดยให้คงอัตราภาษีแบบเดิม เช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 โดยมีสาระสำคัญได้แก่

          1.การประกอบเกษตรกรรม จัดเก็บ ภาษีในอัตรา 0.01-0.1%

          2.ที่อยู่อาศัยจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.02 -0.1%

          3.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจัดเก็บภาษี ในอัตรา 0.03 -0.1%

          4.ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.02-0.1% 5.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นๆ จัดเก็บภาษี ในอัตรา 0.02 - 0.1% 6.ที่ดินหรือ สิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือ ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.3-0.7%

          นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ได้โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณาทบทวนอัตราภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างภายหลังการใช้อัตราภาษีตามร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ไปแล้ว 2 ปี คือจะมีการทบทวน อีกครั้งในปีภาษี 2567 เพื่อให้มี ความเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

          ”การคงอัตราภาษีแบบเดิม เช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 ไปอีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้เป็นไป อย่างต่อเนื่องและเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดให้กับผู้เสียภาษี และเพื่อให้ผู้เสียภาษี ได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการชำระภาษีในอัตราที่แท้จริง รวมถึง ให้ท้องถิ่นมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

Reference: