กูรูจับสัญญาณ กนง.

30 Mar 2020 840 0

          ตลาดค่อนข้างเซอร์ไพรส์กับท่าทีของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ปรับลดประมาณการ อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2563 นี้ลงอย่างแรง โดยหดตัวมากถึง -5.3% มากกว่าทุกสำนัก ทว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 25 มี.ค.ยังให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% แม้ตลาดจะคาดการณ์กันว่า กนง.น่าจะปรับลดอีกอย่างน้อย 0.25% หลังลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบพิเศษ 0.25% ไปเมื่อ 20 มี.ค.แล้วรอบหนึ่ง

          กนง.หั่นจีดีพีแรง-ไม่ลดดอกเบี้ย

          ”ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ”ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงาน วิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กนง.ไม่ได้ลดดอกเบี้ยตามที่แบงก์คาดไว้ว่าน่าจะมีการลดดอกเบี้ยลงควบคู่กันกับการมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ สะท้อนว่า กนง.ให้น้ำหนักเรื่องการแบ่งเบาภาระภาคประชาชนสำคัญกว่า

          ”ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล”รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ธปท. ส่งสัญญาณว่า ไม่ได้มองการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำควบคู่กับนโยบายด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ดี การประเมินจีดีพี -5.3% ถือว่า กนง.สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพราะสถานการณ์ขณะนี้ค่อนข้างใหญ่

          ”ตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่ช็อกลึกและค่อนข้างใหญ่ แต่เป็นช็อกชั่วคราวเนื่องจากเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้นใน ปี 2564 ภายใต้สมมุติฐานที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบ โดยจะลงลึกใน ไตรมาส 2 ดังนั้น ธปท.พยายามให้ภาคธุรกิจ รักษาสภาพคล่องและระมัดระวังมากขึ้น ซึ่ง ธปท.พยายามทำควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือภาระลูกหนี้”

          เชื่อลดดอกเบี้ยฉุกเฉินอีกรอบ

          ”ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย”ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า กนง.แทบไม่ได้อธิบายเหตุผลเลยว่า เหตุใดจึงไม่ลดดอกเบี้ยรอบนี้ โดยระบุเพียงว่า “เห็นพ้องว่าต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุด จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ซึ่งจริง ๆ แล้วสามารถทำไปพร้อมกันได้ ทำให้ กนง.อาจจะให้มีมาตรการบางอย่างเพิ่มเติมอีก

          ”ก่อนหน้านี้มีการลดดอกเบี้ยในการประชุมฉุกเฉิน ก็ทำให้คิดได้เหมือนกันว่า การไม่ลดดอกเบี้ยรอบนี้ อาจจะมีประชุมฉุกเฉินเพื่อลดดอกเบี้ยอีกที”

          ฟาก “ดร.สมประวิณ” มองว่า ในการประชุม กนง.รอบหน้าช่วงไตรมาส 2 น่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง และมีความเป็นไปได้ที่เป็นการเรียกประชุมนัดพิเศษ รวมถึงออกนโยบายด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม

          ”ตอนนี้นโยบายที่ออกมาจะเป็นเรื่องการบรรเทาภาระหนี้ แต่ยังขาดนโยบายด้านสภาพคล่อง ซึ่งประชาชนต้องการสภาพคล่อง เพราะรายได้ไม่มี ไม่สามารถชำระหนี้ และไม่มีใช้จ่ายในการบริโภคด้วย รวมถึงภาคเอกชน- ภาคธุรกิจด้วย”

          ส่วน “ธัญญลักษณ์” เห็นว่า ธปท.ไม่ได้ ปิดช่องการลดดอกเบี้ย โดยรอประเมินสถานการณ์ของการระบาดของไวรัสที่จะกระทบภาคธุรกิจ การจ้างงาน ภาคประชาชนก่อน และทำผ่านมาตรการ ช่วยเหลือต่าง ๆ มากกว่าการใช้ดอกเบี้ยนำ

          ”ในรายงานจะเห็นว่า ใช้คำ ‘เจ็บแต่จบ’ ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจจะลงลึกในปีนี้ แต่ก็จะรีบาวนด์กลับมาในปี 2564 เพราะเราเจอภาวะช็อกชั่วคราวเท่านั้น”

          ลุ้นลดเงินนำส่ง 0.46%

          นอกจากนี้ “ดร.พิพัฒน์” มองว่า มีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะใช้วิธีการลดดอกเบี้ย (ในตลาด) แบบที่ไม่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายก็ได้ เนื่องจากย้อนไปก่อนหน้านี้ กนง.มักจะกล่าวถึงความกังวลเรื่องเสถียรภาพระบบ การเงิน (financial stability) ว่าดอกเบี้ยจะต่ำเกินไป แต่รอบนี้ไม่ได้มีการพูดถึงจึงเป็นไปได้ที่ ธปท.อาจจะผ่อนปรนการนำส่งเงิน 0.46% เข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อให้แบงก์สามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีก

          ”เงินนำส่ง 0.46% เป็นต้นทุนของแบงก์ก็มีความเป็นไปได้ หากลดอัตรานำส่งเป็นการชั่วคราว แลกกับให้แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งหากใช้วิธีลดเงินนำส่งก็ได้ผลเดียวกันกับลดดอกเบี้ย และยังสามารถเก็บกระสุนไว้ได้ด้วย”

          เช่นเดียวกับ “ธัญญลักษณ์” ก็มองว่า มีความเป็นไปได้เรื่องการลดเงินนำส่ง เนื่องจากภาวะตอนนี้ แบงก์ต้องช่วยเหลือ ลูกค้าจำนวนมาก ทั้งยืดอายุหนี้ รวมถึง การปิดสาขาบางส่วน และการลดดอกเบี้ยลง ทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก ขณะที่รายจ่ายยังคงเท่าเดิม

          ”หากแบงก์มีการเจรจากับ ธปท.ถึงความจำเป็น ก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะผ่อนคลายเกณฑ์ เพิ่มเติม แต่การผ่อนคลายอาจจะมี กรอบระยะเวลา เช่น 6-12 เดือน เป็นต้น”

          ลุ้นอัดมาตรการการเงิน-การคลัง

          ”ดร.พิพัฒน์” กล่าวด้วยว่า การที่ ธปท.ปรับคาดการณ์จีดีพีใหม่ หดตัว แรงถึง -5.3% นั้น อาจต้องการ ส่งสัญญาณว่าสถานการณ์ขณะนี้รุนแรงกว่าที่หลายคนคาด ดังนั้น มีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะมาตรการทางการคลังที่แพ็กเกจต่าง ๆ ควรจะออกมามีขนาดใหญ่ ไม่ใช่กระตุ้นแค่ครั้งละ 0.3% ของจีดีพี ซึ่งตนมองว่ารัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1) ต้องทำนโยบายสาธารณสุขที่ทำให้ “ทุกคนมั่นใจ” ได้ว่าควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสอยู่

          2) นโยบายการคลังต้อง “มีบทบาทมากขึ้น” ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากธุรกิจต้องปิดยาว 2 เดือน จะฟื้นกลับมา ลำบาก และ 3) นโยบายการเงินจะต้อง “ผ่อนคลายที่สุด” ทั้งการจัดหาสภาพคล่องและผลักดันสภาพคล่องเข้าระบบได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ปัญหาขาดสภาพคล่องระยะสั้นลุกลามจนกลายเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจ”

          ”สถานการณ์วันนี้เป็นวิกฤตทั่วโลก ดังนั้น การออกมาตรการต่าง ๆ ก็อาจจะทำอย่างประเทศที่ทำไปแล้วก็ได้ เพราะทุกประเทศเจอปัญหาเหมือนกัน ผมว่าวันนี้ภาคการคลังต้องไล่ดู งบประมาณที่ไม่ใช้หรือไม่สมควรใช้ อย่างงบฯสัมมนา งบฯดูงานต่างประเทศ งบฯซื้ออาวุธ ควรนำมาใช้ช่วยระบบสาธารณสุข ช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า”

          ช่วงนี้ก็คงต้องติดตามสถานการณ์และมาตรการของภาครัฐที่ออกมาต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด

Reference: