กิจการโรงแรมสนใจพักหนี้ 158แห่ง มูลค่า3.2หมื่นล้าน

29 Mar 2021 515 0

          อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหวังเดินหน้ารีสตาร์ทธุรกิจ “มาริสา” นายกสมาคมโรงแรมไทยประเมินกว่า 80% กิจการโรงแรมทั่วประเทศ สนใจมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เข้าโครงการ แอสเสท แวร์เฮาส์ซิ่ง 158 แห่ง มูลค่าทะลุ  3.2 หมื่นล้าน ด้าน “สายการบิน” โอดยังเข้าไม่ถึง ซอฟท์โลน

          นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงโรงแรมทั่วประเทศเพื่อสอบถามความสนใจเรื่องการเข้าร่วมโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)  อนุมัติวงเงินเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจและพยุงการ จ้างงานต่อได้ จากเมื่อต้นเดือน มี.ค.2564 โดยสมาคมฯ ได้สำรวจความเห็น 198 โรงแรม มีจำนวนห้องพัก 23,499 ห้อง ในจำนวนนี้กว่า 88.38% เป็นโรงแรมที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

          ทั้งนี้ ผลการสำรวจเจ้าของธุรกิจ 79.63% หรือโรงแรมประมาณ 158 แห่ง มีมูลค่าสินทรัพย์ 82,437.38 ล้านบาท มีมูลค่าหนี้คงค้างกับธนาคารวงเงิน 32,172.5 ล้านบาท แสดงความสนใจจะเช่าโรงแรมต่อจากธนาคาร หลังเข้าร่วมโครงการ “แอสเสท แวร์เฮาส์ซิ่ง” (Asset Warehousing) ซึ่งมีแนวคิดเดียวกับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ของรัฐบาล

          ”หลังจากมีมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เจ้าของโรงแรมหลายแห่งแสดงความสงสัยว่า หากเข้าร่วมโครงการและต้องเช่าโรงแรมจากธนาคารเจ้าหนี้ อนาคตหากต้องการกู้เงินและขยายกิจการ จะต้องทำอย่างไร โรงแรมจะมีงบการเงินเป็นของตนเองเพื่อกู้และขยายกิจการได้ไหม เพราะฐานะตอนนั้นจะเป็นเพียงผู้เช่ากิจการเท่านั้น คงต้องหารือกับธนาคารอีกครั้ง”

          โรงแรมที่ร่วมตอบแบบสอบถาม พบว่าเป็นโรงแรมที่มีมาตรฐานระดับ 5 ดาว สัดส่วน 16.7% โรงแรมที่มีมาตรฐานระดับ 4 ดาว 30.3% โรงแรมที่มีมาตรฐานระดับ 3 ดาว 40.9% โรงแรมที่มีมาตรฐานระดับ 2 ดาว 10.1%  อีก 2% เป็นโรงแรมที่ไม่มีดาว ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของวิกฤติโควิด-19 ไม่มีการเดินทางของ นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้หลายโรงแรมตัดสินใจปลดพนักงาน และเลิกกิจการ

          นอกจากนี้ พบว่า 39.9% เปิดกิจการปกติ ขณะที่ 14.65% เปิดกิจการบางส่วน หรือมากกว่า หรือเทียบเท่า หรือครึ่งหนึ่งของภาวะปกติ  33.38%  เปิดกิจการบางส่วน หรือน้อยกว่า หรือเทียบเท่าครึ่งหนึ่งของภาวะปกติ และสัดส่วน 11.62% ปิดกิจการชั่วคราว

          ด้านนายกฤษ พัฒนสาร ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า สายการบินเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ประสบปัญหาหนักจากการระบาดของวิกฤติโควิด-19 ไม่ต่างจากธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ โดยมีสัดส่วนรายได้จากตลาดการบินระหว่างประเทศ 50% ของรายได้ทั้งหมด รายได้จากการบินในประเทศที่ 50% ของรายได้ทั้งหมด

          สำหรับมาตรการซอฟท์โลน 2.5 แสนล้านบาท ที่ ครม.เพิ่งอนุมัติมาเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน เบื้องต้นสายการบินไม่น่าจะได้ประโยชน์ เนื่องจากเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะเงื่อนไขผู้ที่เข้าร่วมโครงการกำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการกู้เงินของสายการบิน สายการบินก็ไม่น่าขอสินเชื่อได้

          ทั้งนี้ หลังจาก ครม.อนุมัติซอฟท์โลน 2.5 แสนล้านบาทช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สายการบินในฐานะผู้ที่ได้รับผล กระทบจากโควิด-19 เช่นกับหลายธุรกิจ ได้หารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วว่า เงื่อนไขของซอฟท์โลนไม่เอื้อต่อการยื่นขอ สินเชื่อเพื่อเป็นสภาพคล่องของธุรกิจ สายการบินได้ ซึ่งทาง ธปท.ได้รับทราบอุปสรรคดังกล่าวแล้ว

          หลังจากมีมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เจ้าของโรงแรมสงสัยว่า หากเข้าร่วมโครงการและต้องเช่าโรงแรมจากธนาคารเจ้าหนี้ อนาคตหากต้องการกู้เงินและขยายกิจการ จะต้องทำอย่างไร

Reference: